วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

เครื่องสังคโลก

สังคโลก หรือเครื่องสังคโลก หมายถึง เครื่องถ้วยชาม สิ่งของเครื่องใช้ประดับสถาปัตยกรรม สิ่งผลิตอันเนื่องด้วยความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ และศาสนา ซึ่งทำด้วยดินแล้วนำไปเผาไฟ ไม่ว่าจะเคลือบหรือไม่ก็ตาม และเป็นที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย เตาเผาหรือแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่รู้จักกันดีคือ เตาสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ พิษณุโลก

เครื่องเคลือบดินเผา ( Pottery) มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนามของ

“ เครื่องสังคโลก “ ( Sawankalok Were) และอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ เครื่องเชลียง “( Chslieng Ware )

โถเคลือบสีเขียวไขกา

ชามสัคโลกเขียนลายปลา

คนที่ กาน้ำ เขียนสีน้ำตาล



เรื่อง ชื่อ สังคโลก นี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากภาษาจีนว่า “ ซ้องโกลก “ ( ซ้อง = จากชื่อราชวงศ์ซ้อง + โกลก= เตา ) ฉะนั้นคำว่า

ซ้องโกลกจึงแปลว่า “ เตาแผ่นดินซ้อง “ ชื่อนี้ได้เพี้ยนเปลี่ยนมาเป็น “ สังคโลก” ซึ่งเพิ่งจะมาเรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยานี่เองพระมุนินทรานุวัตต์ ได้เขียนไว้ใน “ ตำนานเมืองสวรรคโลก “ ว่า…ชื่อเรื่องที่เรียกว่า “ สังคโลก” นั้น เรียกเพี้ยนมาจากชื่อเมืองสวรรคโลกนั่งเอง..ภาษาไทยของเราก็มีดีอยู่แล้ว สังคโลกนั้นแหละเป็นชื่อถูกต้องด้วยหลักฐานและเหตุผล และในพงศาวดารเหนือกล่าว… เมื่อสร้างเสร็จเจ้าฤาษีสัชนาลัยให้ชื่อว่า เมืองสวรรคโลก ..แสดงว่าชื่อนี้มีมานานแล้ว

งานศิลปะที่เด่น อีกอย่างหนึ่งคือ การทำเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่าเครื่อง “ สังคโลก “ ของสมัยสุโขทัย ช่วยสร้างความหมายของสังคมสุโขทัยให้เด่นชัดยิ่งขึ้นโดยพิจารณาจากชนิดของผลผลิตหลายรูปแบบเพื่อใช

้สอยและเป็นสินค้าส่งออกอันเป็นผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจในสมัยสุโขทัยรวมถึงความสัมพันธ์กับต่างเมืองทั้งใกล้และไกล

นักโบราณาคดีและนักศิลปะบางท่านมีความเชื่อว่า กลุ่มช่างปั้นถ้วยโถโอชามชาวจีนได้เดินทางสู่สยามเทศะในสมัยราชวงศ์ซ้องตอนปลาย ( Southern – Sung Dynasty , )

พ.ศ. ( 1670- 1822 ) บางท่านมีความเห็นว่าจะเข้ามาสู่กรุงสุโขทัยในสมัยราชวงศ์หงวน

( Yuan Dynasty ) พ.ศ. ( 1823 –1911 ) เพราะลักษณะของการเคลือบและวิธีการตกแต่งนั้น

มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเครื่องเคลือบดินเผาของจีนจากเตา “ ซูเจาะ” ( Tzu Choukilns) ในจังหวัดชีหลีทางตอนใต้ของปักกิ่ง ซึ่งเป็นการเคลือบด้วยสลิปขาว ตกแต่งด้วยลายสีดำและสีน้ำตาลไหม้ อันเป็นการเคลือบแบบ “ เขียวไข่กา “ ( Celadom)

สำหรับเครื่องสังคโลกที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบันแบ่งตามเตาเผาจะมีอยู่ 3 แห่งดังนี้

1.เครื่องสังคโลกเตาสุโขทัย หรือเรียกว่า เตาทุเรียงสุโขทัยปัจจุบัน อยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองสุโขทัยใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน เตาแห่งนี้ บางที่ก็เรียกว่า

“ เตาทุเรียง “ อันเป็นชื่อที่ยังไม่ทราบที่แน่นอนว่ามาจากภาษาขอมหรือละว้า ในบริเวณนี้มีซากเตาอยู่ถึง 49 เตา เตาที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 3-4 เตาเท่านั้น ขณะนี้กรมศิลปากรกำลังบูรณะอยู่ แต่น่าเสียดายที่การบูรณะกระทำอย่างฝีมือหยาบๆ พอให้เป็นรูปร่างขึ้นมาเท่านั้นเอง เตาเหล่านี้เรียงรายกันอยู่เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ด้านทิศเหนือ

มี 37 เตา ทิศใต้มี 9 เตา และทิศตะวันออกมี 3 เตา เครื่องสังคโลกที่ได้จากแหล่งนี้เป็นภาชนะถ้วยโถโอชามที่เป็นของใช้สอยเป็นส่วนใหญ่ เครื่องปั้นเคลือบสีดำหรือสีน้ำตาล

เนื้อดินค่อนข้างหยาบชุบน้ำดินสีขาวลวดลายสีดำ แล้วเคลือบใสสีเขียวอ่อน การเรียงถ้วยชามเข้าเตาเผาในแห่งนี้จะใช้ “ กี๋ “คือจานที่มีขา ปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามต่อชาม ฉะนั้น ภายในชามของเตาสุโขทัยจึงมีรอย 5 จุด ปรากฎอยู่

2. เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงป่ายาง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์

ศรีสัชนาลัย บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เหนือแก่งหลวง อยู่ใกล้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย เครื่องสังคโลกที่ได้จากแหล่งนี้มีลวดลาย น้ำยาเคลือบสวยงาม รูปแบบพิเศษกว่าเตาเผาแหล่งอื่น แยกเป็นเตาเผารูปยักษ์ นาคมังกร และเตารูปตุ๊กตา สันนิษฐานว่าเตานี้จะเป็นเตาหลวง

สมเด็จ ฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดวงศ์ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ “ จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก “ ตอนหนึ่งว่า….ตัวเตาตามที่เมื่อผ่านไปนั้น ก็เหมือนจอมปลวกโตๆ เรียงกันไปเป็นแถวในที่ริมน้ำแม่น้ำ ตั้งริมกำแพงเมืองขึ้นไปจนถึงบ้านอ้อ อำเภอดง ตามแถวเตานั้นมีหลุมใหญ่น้อยรอยคนร้ายขุดคุ้ย และเกลื่อยกลาดไปด้วยชามแตกบ้าง บุบบี้ ติดกันบ้างกับทั้งดากใหญ่น้อย สำหรับรองชามเมื่อเผาเคลือบรูปดาก ( กี๋) ก็เหมือนดากพุ่มแต่กลางกลวงทำด้วยดินกับทั้งอิฐเตาหักๆ ด้วย รูปเตาจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ ไม่มีเวลาขูดดู…

3.เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงเกาะน้อย ปัจจุบันในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยริมฝั่งคลองบางบอน ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ห่างจากเตาป่ายางออกไป

5 กม. มีซากเตากระจัดกระจายทั่วไปตามฝั่งขวาของแม่น้ำยม เป็นเตาเครื่องสังคโลกแบบเตา

“ ลุงชวน” แต่อย่างเดียว แม้สิ่งของเครื่องใช้ตามบ้านเรือนที่ไม่ได้เคลือบ และเครื่องเคลือบ

สีน้ำตาลไหม้ ก็ผลิตจากเตานี้ด้วยเหมือนกัน เครื่องสังคโลกที่ได้จากแหล่งนี้ เป็นภาชนะถ้วยชาม จาน จานเชิง โถ ขวด สีของเครื่องสังคโลกมีหลายสี เช่น สีน้ำตาล สีเหลืองอ่อน

สีเขียวไข่กา สีขาวมีลวดลายที่เขียนด้วยสีขาวแล้วเข้มกว่า ส่วนใหญ่สีเคลือบจะใช้วัตถุดิบ เช่นขี้เถ้าของพืชและสัตว์ ผสมกับดิน การเรียงเครื่องถ้วยเตาเผา ไม่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเตาสุโขทัย แต่วางบน “ กี๋ “ แท่งกลวง ฉะนั้น ก้มชามที่เตาเกาะน้อยนี้ จะเป็นวงแหวน

ปรากฎอยู่

เตาบ้านเตาไห ( บ้านชีปะขาวหาย)

ตั้งอยู่ที่บ้านเตาไหใกล้ลำน้ำน่าน เขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นเตาที่ผลิตเครื่องปั้นดินที่ไม่มีการเคลือบ สันนิษฐานว่าเป็นเตาเก่าที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย และก่อนที่ช่างจีนจะเข้ามาสู่กรุงสุโขทัย

ผลิตภัณฑ์จากเตาแห่งนี้ เชื่อว่าแพร่หลายไปสู่เมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยด้วย เพราะได้พบพยานหลักฐานจำนวนไม่น้อย ลวดลายที่ประดับส่วนมากเป็นลายปั้นแปะและลวดลายขูดขีด ลวดลายปั้นแปะ ส่วนมากเป็นลายขมวดรูปโพธิ์ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเตาแห่งนี้ อาจารย์จิตร บัวบุศย์กล่าวว่าได้พบเครื่องปั้นดินเผาจากเตาแห่งนี้ใน

ฟิลิปปินส์ด้วยและได้พบในสภาพที่สมบูรณ์ใบหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ไชยา สุราษฎร์ธานี ต่อมาได้พบลวดลายแบบนี้เผาอยู่ที่เตาสุโขทัย และพบเป็นอันมากที่เมืองศรีสัชนาลัย

เตาทุเรียง มักจะหมายถึง เตาบริเวณตัวเมืองสุโขทัย แต่ทำเป็นเพียงส่วนน้อยไม่มากเหมือนที่เมืองศรีสัชนาลัย ยังมีเตาที่เป็นผลผลิตสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ เตาเมืองพิษณุโลกส่วนใหญ่มีการผลิต โอ่ง ไห จำนวนมาก จึงเรียกว่า “ เตาไห” เป็นต้น

ชนิดและประเภทของสังคโลก

ถ้าพิจารณาวัสดุและความแข็ง อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือชนิดเนื้ออ่อนหรือเนื้อดิน และชนิดเนื้อแข็งหรือเนื้อหิน

    1. ชนิดเนื้ออ่อนหรือเนื้อดิน ได้แก่ภาชนะที่มีเนื้อดินสีส้มอมแดง ผิวด้านนอกไม่เคลือบ แต่บางชิ้นมีการขัดผิวให้มันแล้วชุบน้ำดินสีแดง การตกแต่งลวดลาย ที่พบมากเป็นลายเชือกทาบและลายขุดหรือลาบขีดในเนื้อดิน
    2. ชนิดเนื้อแข็งหรือเนื้อหิน ได้แก่ ภาชนะที่มีเนื้อแน่น แข็ง น้ำและของเหลวไม่สามารถไหลผ่านได้ เวลาเคาะมีเสียงกังวาน ใช้ความร้อนในการเผาด้วยอุณหภูมิสูงกว่าชนิดเนื้ออ่อน มีทั้งเคลือบน้ำยา ได้แก่ ครก สาก ไหปากผายคอยาวโอ่งต่างๆ สังคโลกประเภทนี้จะพบมากที่แหล่งเตาเผาบ้านน้อย สำหรับภาชนะที่เคลือบน้ำยา จะมีชนิดเคลือบน้ำยาสีเขียว พบมากที่แหล่งเตาเผาป่ายางและบ้านเกาะน้อย ภาชนะที่เคลือบสีขาวขุ่น เช่น จาน โถ ไหขนาดเล็ก โคนไฟ ตุ๊กตา พบมากที่แหล่งเตาสุโขทัย และเตาป่ายาง ภาชนะที่เคลือบสีน้ำตาล เช่น ครก คนที ตะเกียง ไหขนาดเล็ก ใหญ่ โอ่ง ตุ๊กตาขนาดเล็ก ผลิตที่เตาป่ายางและบ้านเกาะน้อย

นอกจากนี้ยังมีภาชนะชนิดเขียนลายเคลือบ คือ การเขียนลายก่อนชุบเคลือบ แล้วนำไปเผา ลวดลายที่เขียนจะมีสีน้ำเงินเข้ม ดำ น้ำตาลสังคโลกชนิดนี้จะงดงามมาก และมีราคา

ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลก

เครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัย มีลวดลายเฉพาะตัว ลวดลายที่พบมากในจาน ชามก็คือ กง จักร ปลา ดอกไม้ โดยเฉพาะปลา เป็นแบบเฉพาะของชาวสุโขทัย นอกจากนี้ยังมี กุ้ง หอย ปู คล้ายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสุโขทัยที่กล่าวว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

ลักษณะแบบอย่างของลวดลายและเทคนิคในการเขียนภาพ มีท่วงทีฝีแปรงปาดป้ายอย่างอิสระ( Freedom in Brushworks) เช่นรูปปลา ลายกงจักร และลายดอกไม้ใบหญ้าภาพจักรหรือพระอาทิตย์ รวมทั้งลายพันธุ์พฤกษา เป็นต้น บ่งชัดว่าเป็นอิทธิพลฝีมือช่างจีนมากกว่าจะเป็นฝีมือช่างไทย ซึ่งถนัดในการตัดเส้นอย่างประณีต เช่น ภาพปลาในจานจากเกาะน้อย มีลักษณะผิดกันอย่างชัดเจน มีเศษชิ้นแตกของจานใบหนึ่งเข้าใจว่าเป็นผลงานจากเตาสุโขทัย ตรงกลางเป็นรูปปลา และมีตัวอักษรสมัยสุโขทัยเขียวไว้ว่า “ แม่ปลากา “ งานชิ้นนี้ พล.ต.อ. มนต์ชัย พันธ์คงชื่น ได้มอบให้ไว้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ นับเป็นงานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง

เครื่องสังคโลกของสุโขทัย นับว่าจะหายยากยิ่งราคาของบางชิ้นมีการซื้อขายกันนับสิบล้านบาทและมีน้าวโน้มว่าสิ่งของเหล่านี้จะไปอยู่ในต่างประเทศมากกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมามีการซื้อขายเครื่องสังคโลกกันมากขึ้น คุณสมเดช พ่วงแผน ชายหนุ่มเชื้อสายชาวสุโขทัยโดยกำเนิดเห็นสังคโลกมาแต่เกิด เพราะคุณสมเดช นอกจากทำไร่ข้าวโพดแล้ว ยังเป็นผู้ใหญ่บ้าน เกิดที่เมืองเก่าสุโขทัย สะสมเครื่องสังคโลกไว้มาก สมัยก่อนเครื่องสังคโลกมีมาก ชาวบ้านทำไร่ ทำนาที่ขุดหลุมปลูกอะไรก็พบ นำมาขายมาแลกข้าว คุณพ่อคุณสมเดชก็เก็บไว้ ราคาไม่แพงเพราะมีความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ ไม่กล้านำเข้าบ้านเก็บไว้ที่ยุ้งข้าว เป็นยุ้ง ทั้งพระและเครื่องสังคโลกต่อคุณพ่อคุณสมเดชมาทำกิจการเปิดปั๊มน้ำมันและยังรับราชการเป็นกำนัน เครื่องสังคโลกเริ่มมีการซื้อขายมากขึ้น คุณพ่อคุณสมเดชก็มอบให้ผู้หลักใหญ่ไปบ้าง ขายไปบ้าง ของที่อยู่ในยุ้งเริ่มหมดไป จนปี พ.ศ.2520-พ.ศ.2521 เครื่องสังคโลกในยุ้งคุณพ่อเหลือน้อยมาก ชิ้นดีๆ ก็ขายและให้ผู้ใหญ่ไปหมด เหลือแต่ของแตกๆ ทำให้คิดถึงเยาวชนรุ่นหลังๆ จะไม่มีเครื่องสังคโลกสุโขทัยไว้ดู เพราะไปอยู่ต่างประเทศหรือไม่ก็อยู่ที่บ้านของเศรษฐีของเมืองไทยที่นิยมของเก่าโบราณา จึงเริ่มมีความคิดตั้งแต่นั้นมา อยากจะทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ จากนั้นเริ่มศึกษาเครื่องสังคโลก ศึกษาเรื่องดิน น้ำเคลือบ การเผา จนมีความรู้และสามารถทำเครื่องสังคโลกได้คุณสมเดช ได้สร้าง อาณาจักร พ่อ กู สังคโลก เพื่อผลิตเครื่องสังคโลกเลียนแบบโบราณาและทำเป็นพิพิธภัณฑ์เปิด จัดแสดงเครื่องสังคโลกที่สะสมไว้ให้ผู้สนใจเข้าชม งานชิ้น แรกที่คุณสมเดชผลิตคือ ครุฑ ถอดแบบจากภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัยเป็นผลงานที่งดงามมาก และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ขณะนี้

ผลงาน ในอาณาจักรพ่อกู สังคโลก คือ สังคโลกจำลองมากมาย ทั้งศรีสัชนาลัยและสุโขทัยไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม เครื่องใช้สอย ถ้วย ชาม หม้อ ไห และสิ่งที่คุณสมเดชภาคภูมิใจมากก็เพราะงานที่ปรากฎออกไปทุกชิ้นนับว่ามีชิ้น เดียวในโลกเพราะเป็นงานฝีมือที่เลียนแบบช่างปั้นในอดีตอย่างแท้จริง เป็นการสืบสานภูมิปัญญาเครื่องสังคโลกของบรรพบุรุษของอาณาจักรสุโขทัย ขณะนี้มีชาวบ้านในสุโขทัยได้ทำเครื่องสังคโลกเลียนแบบหลายแห่งมีทั้งศรีสัช นาลัยและที่เมืองเก่าสุโขทัย โดยเฉพาะที่บ้านนายแฝง พรหมเพ็รช และ

นายสุ เทพ พรหมเพ็รช ได้จัดทำเลียนแบบอย่างประณีตจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นเครื่องสังคโลกโบราณาหรือ จัดทำขึ้นใหม่นับว่าเป็นสิ่งที่ชาวสุโขทัยภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

สรุป

ศิลปะสุโขทัยสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมเส้นทางคมนาคมอันสำคัญ สามารถติดต่อกับเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือได้สะดวก เพราะมีแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน เป็นเส้นทางติดต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะ เมืองเชียงใหม่มีความสำคัญอย่างใกล้ชิดตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงกับพ่อขุนมังราย ซึ่งเป็นพระสหายร่วมกับพ่อขุนงำเมืองแพร่เมืองพะเยาด้วย ช่วยเลือกสถานที่สร้างเมืองเชียงใหม่และติดต่อทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ สมัยพระเจ้ากือนาได้ส่งฑูตมานิมนต์พระสุมนะเถระขึ้นไปประจำ ณ วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่

โดย เฉพาะศิลปกรรม เป็นงานที่ละเอียดอ่อนด้วยความคิดรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสถาปัตยกรรม ไม่ใหญ่โตแต่มีความเหมาะสมกลมกลืนด้วยสัดส่วนที่พัฒนาความงามอย่างเป็นเลิศ พระพุทธศาสนาช่วยบันดาลใจให้เกิดพระพุทธรูปงดงาม หลายรูปแบบ

ศิลปะสุโขทัยนับเป็นศิลปะสูงสุดแห่งความงดงามของไทย กล่าวได้ว่าความสมบูรณ์ทางศิลปกรรมเกือบทุกแขนง แสดงถึงความคิดเทคนิควิทยาและฝีมือช่างระดับสูง จนแม้ในสมัยปัจจุบันความงามของศิลปะต่างๆ ยังเป็นที่ยอมรับให้เป็นศิลปะสูงสุด จนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง

กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ. สุโขทัยรุ่งอรุณแห่งความสุข. กรุงเทพฯ:

คุรุสภาลาดพร้าว, 2539. หน้า 44 –49.

สงวน รอดบุญ. พุทธศิลป์สุโขทัย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2521. หน้า

180-185.

เสนอ นิลเดชและเสริมศักดิ์ นาคบัว( คำอธิบาย)เครื่องถ้วยสังคโลก

สุโขทัย. วินิจฉัยปัญหาเศรษฐกิจการเมืองและสังคมสมัยสุโขทัย.

กรุงเทพฯ: สำนักส่งเสริมวิชาการ, 2519. หน้า 155-157.


ที่มา http://www.sukhothai.ru.ac.th/travel-sukhothai/ckr.htm

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เครื่องสังคโลก

เครื่องสังคโลก

สังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี มีการเคลือบผิวและตกแต่งลวดลายงดงาม เผาด้วยความร้อนสูงมากประมาณ 1,150-1,280 องศาเซลเซียส เตาเผาและเทคนิคการเผาได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัยจนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่มีเตาเผาปรากฏอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และริมแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
รูปแบบของสังคโลกมีหลากหลายอันเนื่องมาจากเทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายต่าง ๆ กัน ดังนี้

  • เครื่อง ปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ แต่ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต นอกจากนี้ก็มีการประดับด้วยวิธีการปั้นดิน แล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเข้าเตาเผา เข้าใจว่าเป็นแบบดั้งเดิมที่มีมาก่อนและทำสืบต่อมาในระยะหลังด้วย

  • เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลเข้มเป็นการเคลือบสีพื้นสีเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล

  • เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบสีน้ำตาล มีลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเตาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนานของเวียดนาม

  • เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง

  • เครื่องถ้วยเนื้อดินแกร่งกึ่งสโตนแวร์ไม่เคลือบแต่ชุบน้ำดิน แล้วเขียนลวดลายด้วยสีแดง

  • เครื่อง ถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือเซลาดอน (celadon) ตกแต่งลวดลายด้วยการขูดและขุดลายในเนื้อดิน แล้วเคลือบทับ ประเภทนี้คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซ้องตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20

  • เครื่องถ้วยดินเผา หรือตากให้แห้งแล้วนำสลิปน้ำดินขาวทาทับอย่างหนา ๆ สลักลายเบา แล้วจึงนำเข้าเตาเผา



การผลิตเครื่องสังคโลกในช่วงแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อประโยชน์ใช้สอย และค้าขายในชุมชนและหัวเมืองใกล้เคียง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวศรีสัชนาลัยสามารถสร้างเตาที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกคุณภาพดี และดำเนินการผลิตจนสามารถส่งออกขายอย่างแพร่หลายในตลาดต่างแดนได้ในพุทธ ศตวรรษที่ 20-22 ราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบคำคำหนึ่งในบันทึกของชาวญี่ปุ่น คือคำว่า ซันโกโรกุ (sunkoroku) เข้าใจว่าเป็นคำที่คนญี่ปุ่นพยายามออกเสียงโดยหมายถึง สวรรคโลก (แหล่งหรือเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย เดิมเรียก สวรรคโลก) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า สังคโลก โดยคนสยามอีกทีหนึ่ง เครื่องสังคโลกตามเหตุผลนี้จึงหมายถึง เครื่องปั้นดินเผาทุกชนิดที่ผลิตในแคว้นสุโขทัย กลุ่มผู้ซื้อไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ต่างก็รู้จักกันในชื่อนี้ทั้งสิ้น

เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลกที่สำคัญ พบเตาจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยม ส่วนมากเป็น "เตาประทุน" หรือเตาชนิดระบายความร้อนผ่านในแนวนอน กลุ่มเตาที่สำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย และกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ในพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของ ท้องตลาด การผลิตสังคโลกในบริเวณศรีสัชนาลัยดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรม โดยมีอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอิทธิพลด้านการเมืองเหนือสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ดำเนินธุรกิจในฐานะรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางนำใส่เรือสำเภาออกไปขายตามเมือง ท่าทั้งในประเทศและ นอกประเทศ บันทึกการสั่งสินค้าของพ่อค้าฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยยังคงเป็นสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยเห็นได้จากจดหมายเกี่ยวกับการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในปี พุทธศักราช 2157 กล่าวถึงความต้องการซื้อเครื่องถ้วยชามสังคโลกของพ่อค้าฮอลันดา และกล่าวถึงความนิยมของชาวญี่ปุ่นว่า ต้องการเครื่องสังคโลกของไทย

สังคโลกหยุดการผลิตไประยะหนึ่ง จนกระทั่งปลายศตวรรษ 1960 ได้มีการฟื้นฟูสังคโลกครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง ปัจจุบันมีเครื่องสังคโลกสมัยใหม่ที่รู้จักกันในนาม ศิลาดล ชามตราไก่ ในรูปของภาชนะแบบต่าง ๆ

เครื่องสังคโลกของสุโขทัยนับวันจะหายากยิ่งขึ้น ราคาบางชิ้นซื้อขายกันนับสิบล้านบาท และมีแนวโน้มว่าไปอยู่ในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนสืบสานการทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณ คือ คุณสมเดช พ่วงแผน คุณลุงแฟง พรมเพ็ชร และคุณสุเทพ พรมเพ็ชร ประมาณ พ.ศ. 2520 คุณสมเดช พ่วงแผนและพี่ชายคือ คุณประจวบ พ่วงแผน ได้ศึกษาเรื่องดิน น้ำเคลือบ การเผา จนมีความรู้และสามารถทำเครื่องสังคโลกได้ และได้สร้างพิพิธภัณฑ์เปิดชื่อ อาณาจักรพ่อกู สังคโลก จัดแสดงเครื่องสังคโลกโบราณที่สะสมไว้ให้ผู้สนใจเข้าชม พร้อมทั้งผลิตเครื่องสังคโลกเลียนแบบโบราณ เครื่องสังคโลกรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เป็นของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ผลงานใน อาณาจักรพ่อกู สังคโลก มีสังคโลกจำลองมากมาย สิ่งที่คุณสมเดชภาคภูมิใจมากก็เพราะงานที่ผลิตออกไปทุกชิ้นถือว่าเป็นงาน ศิลปะมีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกัน ขณะที่คุณลุงแฟง พรมเพ็ชรและบุตรชายคือ คุณสุเทพ พรมเพ็ชร ชาวบ้านอำเภอศรีสัชนาลัยก็ได้ริเริ่มทำสังคโลกเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณเช่นกัน ทั้งยังออกแบบผลิตเครื่องสังคโลกเป็น ถ้วยชาม ของที่ระลึกที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง เครื่องสังคโลกแบบของโบราณของคุณลุงแฟงมีความงดงามประณีตมาก ในการประกวดเครื่องสังคโลกซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 ผลงานของคุณลุงแฟงได้รับรางวัลดีเด่นและได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันคุณสุเทพ พรมเพ็ชรและครอบครัวเป็นผู้สืบทอดการทำเครื่องสังคโลกต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของสุเทพสังคโลก มีทั้งที่เป็นถ้วยกาแฟ ชาม จานที่ระลึก ตุ๊กตารูปต่าง ๆ ฯลฯ เป็นที่นิยมชื่นชอบทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สิ่งที่ภาคภูมิใจของคุณสุเทพ พรมเพ็ชรคือได้ปั้นจานสังคโลกขนาด 9 นิ้วเพื่อให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบวาระสามทศวรรษมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 27 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2545

เป็นที่น่ายินดีว่า เครื่องสังคโลกในวันนี้ยังทรงคุณค่าอมตะแห่งภูมิปัญญาไทยกว่า 700ปีและเป็นที่ชื่นชอบนิยมศึกษาอย่างลึกซึ้งในแง่โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในสถาบันการศึกษาของไทยและต่างประเทศ การประชุมนานาชาติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 คือ การประชุมนานาชาติในหัวข้อ "สังคโลก-สุโขทัย -อยุธยา-กับ เอเชีย (Sangkhalok-Sukhothai-Ayutthaya and Asia)" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนยย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาสังคโลกนั้น ได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีผู้เข้าประชุมหลากหลายทั้งที่เป็นคณาจารย์ ภัณฑารักษ์ บรรณารักษ์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการผลิตเครื่องสังคโลกในปัจจุบัน นักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องเครื่องสังคโลกระดับปริญญาเอก และปริญญาโท ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้รู้ นักสะสมมืออาชีพ นักสะสมรุ่นใหม่และรักในความงดงามของเครื่องสังคโลก

อนาคตของเครื่องสังคโลกที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะกลับพลิกฟื้นทั้งในด้านรูป แบบ การผลิต การส่งออกหรือไม่นั้น ก่อนอื่นต้องอยู่ที่คนไทยเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยด้วยกัน ช่วยกันศึกษาค้นคว้า ถ่ายทอดทั้งความรู้ด้านวิชาการ สืบสานการผลิตในภาคปฏิบัติ ส่งเสริมการตลาดให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยกันริเริ่มสนับสนุนใช้เครื่องสังคโลกของไทย การพลิกฟื้นชื่อเสียงและคุณค่าของเครื่องสังคโลกไทยย่อมเป็นจริงไปได้อย่าง แน่นอน